บทบาทของทรัมป์... กับภัยคุกคามเศรษฐกิจโลกและไทย

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567

              การชนะเลือกตั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกาในช่วงกลางเดือนมกราคม 2568 ด้วยนโยบายสุดโต่ง “Extreme policy” มีผลทำให้คนสหรัฐอเมริกาเทคะแนนให้กับคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) อย่างท่วมท้นทิ้งห่างนางคามาลา แฮร์ริส ซึ่งก่อนเลือกตั้งเป็นตัวเต็งอย่างขาดลอย ปฏิกิริยาตอบรับการเข้ามาของ “ทรัมป์” ที่ชัดเจนคือช่วงสิบวันหลังชนะเลือกตั้งที่เห็นชัดเจนอัตราแลกเปลี่ยนดอลล่าร์สหรัฐเทียบกับเงินยูโรแข็งค่ามากสุดในรอบสองปี ขณะที่ช่วงเดียวกันเงินบาทเทียบกับเหรียญสหรัฐอ่อนค่า ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน อยู่ที่ 34.863 บาท/USD. หากเทียบกับต้นเดือนอ่อนค่าถึงร้อยละ 2.88 สอดคล้องกับเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาค ด้านราคาทองคำตลาดโลกในช่วงเดียวกันตอบสนองเศรษฐกิจสหรัฐราคาลดลงถึงร้อยละ 6.68 ขณะที่ราคาน้ำมันโลก (WTI) ได้รับผลกระทบคาดว่าดีมานด์ความต้องการน้ำมันในอนาคตอาจชะลอตัวทำให้ราคาในช่วงเดียวกันลดลง 3.92 USD./บาร์เรล หรือลดลงร้อยละ 5.43

              ยังไม่ทันที่จะเข้ารับตำแหน่ง “ทรัมป์” ประกาศที่จะออกนโยบายที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเกี่ยวข้องกับกำแพงภาษีการค้ากับจีนอัตราร้อยละ 60 และเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 10 – 20 กับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย สหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยสัดส่วนร้อยละ 18.20 ทิ้งห่างจีนอยู่ในระดับสองสัดส่วนร้อยละ 11.83 และญี่ปุ่นอันดับสามสัดส่วนส่งออกร้อยละ 7.81 คาดว่าปีพ.ศ. 2567 ไทยจะมีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ 54,147.9 USD. อัตราการขยายตัวร้อยละ 12.48 เทียบกับจีนการส่งออกอาจขยายตัวเพียงร้อยละ 0.03 ด้านการนำเข้าปีพ.ศ. 2567 สหรัฐอเมริกาอยู่ในระดับสี่มีสัดส่วนร้อยละ 6.58 อัตราการขยายตัว 3.29 ต่ำสุดในรอบสามปี ขณะที่จีนเป็นคู่ค้านำเข้าอันดับหนึ่งของไทยมีสัดส่วนร้อยละ 25.5 อัตราการขยายตัวร้อยละ 11.06 ประเทศไทยได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ ต่อเนื่องมาโดยตลอดโอกาสถูกเช็คบิลจาก “ทรัมป์” ค่อนข้างสูง

              กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่านโยบายกำแพงภาษีตอบโต้ประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ จะเพิ่มโอกาสความเสี่ยงต่อการลงทุนและการค้าโลกคิดเป็นมูลค่าถึง 1 ใน 4 จะทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจโลกอาจลดลงร้อยละ 0.3 และการลงทุนลดลงร้อยละ 4 ประเทศที่ได้รับไปเต็มๆ คือ “จีน” จะทำให้การส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ ลดลงถึงร้อยละ 70 ผลคือทำให้เกิดการชะงักงันต่อภาวะเศรษฐกิจของจีนซึ่งเศรษฐกิจอ่อนแอเป็นทุนอยู่แล้วและลามไปถึงประเทศต่างๆ รวมถึงอาเซียนและไทย

              เศรษฐกิจไทยทั้งภาคบริการและการค้าผูกพันกับเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนที่สูงประมาณร้อยละ 93 ของ GDP หาก “ทรัมป์” ตั้งการ์ดกำแพงภาษีและจัดระเบียงโลก “The America First” ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางตามที่ได้หาเสียงจะทำให้การส่งออกซึ่งเป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ “IMF” ยังระบุว่ามาตรการของ “ทรัมป์” จะทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกปั่นป่วนและแยกส่วนห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมโลกออกจากกัน (Decoupling Policy) อาจกระทบต่อ GDP โลกร้อยละ 7

              คลื่นสึนามิที่จะตามมาจากนโยบาย “ทรัมป์” จีนซึ่งเป็นคู่ค้านำเข้าอันดับสองของสหรัฐฯ รองจากเม็กซิโกอาจโดนกำแพงภาษีถึงร้อยละ 60 ผลคือสินค้าจีนซึ่งพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูงจะล้นตลาดไหลกลับเข้าไปทุ่มราคาในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรป ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศอาเซียนรวมทั้งไทยซึ่งมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับจีนจะกลายเป็นถังขยะรองรับสินค้าจำนวนมหาศาลในราคาซึ่งต่ำอย่างน่าประหลาดใจ กรณีของไทยซึ่งก่อนหน้านี้เป็นแหล่งระบายสินค้าราคาถูกจากจีนจะถูกทุนจีนทั้งสีขาวและสีเทารวมทั้งพ่อค้า – แม่ค้าจากจีนจะเข้ามาเปิดกิจการทั้งล้ง – ร้านค้าร้านอาหารโดยเฉพาะการค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซซึ่งปัจจุบันเข้ามาแย่งชิงตลาดและแย่งอาชีพคนไทยมาอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ผลกระทบที่จะตามมาจะทำให้ธุรกิจรายเล็ก – รายใหญ่จนไปถึงอุตสาหกรรมเจ๊งหรืออยู่ไม่ได้

              แม้แต่การลงทุนทางตรงหรือ FDI จากจีนผ่าน “บีโอไอ” ที่อาจใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเข้าไปในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐฯ กำลังเพ่งเล็งว่าหลายประเทศรวมทั้งไทยสินค้าที่ผลิตใช้ “Local Content” หรือสัดส่วนวัตถุดิบหรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปที่ผลิตในประเทศซึ่งปกติกำหนดไว้ประมาณร้อยละ 40 แต่อุตสาหกรรมจากจีน (บางราย) มีการใช้เครือข่ายจากธุรกิจจีนทำให้ทำให้สินค้าที่ส่งออกจากไทยไส้ในเป็นสินค้าจากจีนโดยใช้ “Made in Thailand” ส่งออกไปสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงอัตราภาษีสูง ที่กล่าวเป็นเพียงบางส่วนที่ไทยทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องมีการตระหนักถึงนโยบายของ “ทรัมป์”ซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามต่อระบบเศรษฐกิจและผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม และออกมาตรการที่จำเป็นหรือเจรจาข้อตกลงกับสหรัฐฯ ที่ทำให้ไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด