“ นานาทรรศนะ มองคนตกงาน เด็กจบใหม่ผสมโรงคนว่างงานพุ่ง ”
ปฎิเสธไม่ได้ว่าวายร้ายไวรัสโควิด-19 เป็นตัวการหลักที่เขย่าฐานการจ้างงานสะเทือนไปทั้งโลกผลกระทบจากโควิด-19 มีการห้ามทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ(Lock down) ทำวงจรธุรกิจถูกตัดขาดโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยว
ทั้งภาคเอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจรวมถึงหน่วยงานรัฐ ต่างมีความกังวลต่อปัญหาคนตกงานที่เพิ่มขึ้นและวิกฤติโควิด-19 ยังคงเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนลำบาก ยิ่งตอกย้ำเศรษฐกิจครึ่งปีหลังยังมองไม่เห็นทิศทาง แถมนักศึกษาจบใหม่จ่อแถวเข้ามา…..ยังไม่รู้ชะตากรรมมีงานทำหรือไม่
ล่าสุด“ฐานเศรษฐกิจ”ประมวลความคิดเห็นจากภาคเอกชนพบว่า เสียงส่วนใหญ่ยังคงโฟกัสไปที่ข้อกังวลของการจ้างงานที่จะมีแรงงานอีกจำนวนมากอาจตกงานเพิ่มขึ้นอีกภายในปีนี้
สอดคล้องกับที่นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยกล่าวว่า หลังการประกาศเปิดพื้นที่เศรษฐกิจเฟส 4 ทำให้สถานประกอบการทยอยเปิดกิจการ แต่ด้วยกำลังซื้อที่อ่อนแอทั้งจากการไม่ได้รายได้ช่วงล็อกดาวน์เมื่อเข้ามาทำงานใหม่ค่าจ้างได้ต่ำกว่าเดิม ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังวิตกกังวลเกี่ยวกับความเชื่อมั่นรายได้ในอนาคตและหรือยังกังวลกับการติดเชื้อโรค
“ก่อนหน้าการเปิดล็อกดาวน์มีคนว่างงานประมาณ 8.4 – 9.0 ล้านคน ปัจจุบันคาดว่าอาจมีประมาณ 3.2 ล้านคนในจำนวนนี้มีคนว่างงานตามมาตรา 33 ยื่นขอรับสิทธิการว่างงานต้นเดือนมิถุนายนมีถึง 1.44 ล้านคน ตัวเลขนี้ยังไม่รวมเด็กจบใหม่ประมาณ 5.5 แสนคน คาดว่าตลาดจะสามารถรองรับสูงสุดร้อยละ 20 ที่จะทำให้มีแรงงานวัยตอนต้นตกค้างประมาณ 4.4 แสนคน เข้ามาผสมโรงในระบบคนว่างงาน
นายธนิตมองอีกว่าโดยภาพรวมภาคอุตสาหกรรมจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ภายในระยะสั้นเพราะเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกซึ่งคาดว่าจะยาวนานอย่างน้อยไปถึงกลางปีหน้า ทั้งหมดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานประกอบการภาคเอกชนอยู่ในช่วงชะลอการจ้างงานจนไปถึงการปลดคนงาน
บทความ โดย ดร.ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย